วันพุธที่ 9 พฤศจิกายน พ.ศ. 2554

ผลกระทบจากสารเสพติด

การสูญเสียด้านบุคลิกภาพและจิตใจ
เยาวชนย่อมมีบุคลิกภาพที่กำลังเจริญเติบโตมีการสร้างประสบการณ์ต่างๆ และหัดวิธีการและชั้นเชิงในการผจญปัญหาหรือกระทำการเพื่อให้บรรลุเป้าหมายการแก้ปัญหาย่อมต้องอาศัยกระบวนการทางจิตหลายประการ เช่น ความอดกลั้น การควบคุมอารมณ์ การแสดงอารมณ์ตามความเหมาะสม การใช้ความคิดและประมาณการ ตลอดจนการหาวิธีแก้ปัญหาให้เกิดผลดีที่สุด
หากเยาวชนใช้และติดยาเสพติด โดยอาศัยเป็นทางหนีจากความทุกข์ยากหรือปัญหาต่างๆแล้ว บุคลิกภาพของผู้นั้นก็ย่อมหยุดเจริญ แทนที่จะหาทางแก้ปัญหาที่เหมาะสม กลับหันไปใช้ยาแทน เยาวชนที่ติดยาจึงมีบุคลิกภาพใหม่ที่มีความอดทนน้อย ระแวง และหาความสุขจากชีวิตธรรมดาที่ไม่ใช้ยาเสพติดไม่ได้
หากผู้นั้นได้ผ่านการรักษาหลายครั้ง และเลิกได้ไม่นานก็ต้องกลับไปใช้อีก ความเชื่อมั่นในตนเองและความหวังว่าจะเลิกจากยาก็ค่อยๆหายไปทุกที
หากผู้นั้นถูกจับและติดคุกหลายๆ ครั้ง ความกลัวคุกตะรางและการลงโทษต่างๆ ตลอดจนความไม่ดีในสายตาของสังคมก็ค่อยลดเสื่อมและชินชาไป การติดคุกตะราง หรือการถูกลงโทษทางกฎหมายกลายเป็นเรื่องเล็ก ค่านิยมของเขาก็เปลี่ยนไป ความดีกับความชั่;ตามแนวคิดปกติก็เลือนไป ความสุขที่เกิดจากการกระทำความดีก็ถอยไป นับได้ว่าเป็นการเสื่อมสลายของสภาพจิต
เมื่อเยาวชนคนหนึ่งคนใดติดยาเสพติด และมีบุคลิกภาพเปลี่ยนแปลงไปจนถึงขั้นนี้ ก็จะเป็นพลเมืองดีไม่ได้ ไม่สามารถใช้ชีวิตที่เป็นประโยชน์กับตนเองและผู้อื่นได้ กลับเป็นผู้ก่อให้เกิดปัญหาสำหรับตนเองครอบครัวและสังคม จึงนับว่าเป็นการสูญเสียทรัพยากรมนุษย์ของชาติ ซึ่งเป็นการสูญเสียที่สำคัญที่สุด


การสูญเสียทางสุขภาพอนามัย
ผู้ที่ติดยาเสพติด อาจเกิดปัญหาทางสุขภาพอนามัย หรือโรคต่างๆได้หลายอย่าง ได้แก่
๑. การใช้ยาเกินขนาด โดยที่การด้านยาเปลี่ยนแปลงอยู่เรื่อย ผู้ที่พยายามเลิกยาหรือเข้ารับการรักษา ความด้านยาจะลดลง ประกอบกับยาที่ได้จากการลักลอบค้าไม่ได้มีการควบคุมมาตรฐาน ความแรงอาจเปลี่ยนแปลงได้อยู่เสมอ เพราะมีการเจือปนสารชนิดอื่นเข้าไปก่อนนำออกจำหน่าย ผู้ติดยาจึงอาจใช้ยาเกินขนาดและเป็นอันตรายได้ ยิ่งเป็นการใช้ยาที่ฉีดเข้าหลอดเลือดแล้วยิ่งมีโอกาสเกินขนาดได้มาก
ยาที่มีฤทธิ์กดระบบประสาทกลาง เมื่อใช้เกินขนาดจะทำให้ไม่รู้สึกตัวไป การหายใจลดลง และอาจเป็นอันตรายเสียชีวิตได้ ในบางรายอาจเกิดการบวมของปอด ทำให้หายใจหอบและเสมหะเป็นฟองได้
๒. อาการจากการขาดยา อาการถอนยาที่เกิดขึ้นในผู้ติดยาบางคนที่ติดอย่างรุนแรงและสุขภาพไม่ดีอาจเป็นอันตรายได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการติดยานอนหลับ อาจเกิดอาการไข้สูง ชัก และไม่รู้สึกตัวได้
ในบางรายอาจมีอาการถอนยาที่ปรากฏคล้ายโรคทางกาย เช่น อาการปวดท้องอย่างรุนแรงเหมือนการอุดตันของลำไส้ ทำให้ได้รับการผ่าตัดแก้ไขโดยวินิจฉัยผิดได้
อาการถอนยาที่เกิดในเด็กแรกเกิด เนื่องจากมารดาติดยาเสพติด และใช้ยาในระยะก่อนคลอด จะทำให้เด็กไม่แข็งแรง หายใจน้อย และเสียชีวิตได้ง่าย
๓. พิษจากยาเสพติด ยาเสพติดบางชนิด เช่น แอมเฟตามีน กัญชา โคเคน และแอลเอสดี มีผลทำให้เกิดอาการทางจิตได้ บางรายอาจคลุ้มคลั่ง วิกลจริตไปเป็นระยะเวลานาน
ยาแอมเฟตามีน ทำให้เกิดอาการระแวงอย่างรุนแรง คิดว่าผู้อื่นจะมาทำร้ายจึงอาละวาด และทำร้ายผู้อื่นได้
ในยาเสพติดที่ลักลอบขายกัน อาจมีสารอื่นเจือปน เพื่อให้ได้ปริมาณมากขึ้น เช่น สารหนู และสตริกนิน (strychnine) เป็นต้น ซึ่งเป็นยาพิษทำให้เป็นอันตรายได้
๔. อันตรายจากการฉีดยาที่ไม่สะอาด ผู้ติดยาที่ใช้ยาฉีดเข้าหลอดเลือด หรือเข้ากล้ามเนื้อ มักไม่ได้ทำความสะอาดหลอดฉีดยา ให้ปราศจากเชื้อเสียก่อนน้ำที่ใช้ละลายยาเพื่อฉีดก็ไม่สะอาด จึงอาจฉีดเอาเชื้อโรคต่างๆเข้าไปในร่างกายได้ ทำให้เกิดการอักเสบของผิวหนัง และเนื้อเยื่อบริเวณที่ฉีด เกิดเป็นฝีหรือเนื้อตายได้อาจลุกลามเกิดการอักเสบของหลอดเลือดหรือโลหิตเป็นพิษได้ ในบางรายเชื้อโรคอาจเข้าไปยังอวัยวะภายใน เช่น หัวใจ ปอด สมอง และกระดูก ทำให้เกิดลิ้นหัวใจอักเสบ และฝีตามอวัยวะต่างๆ
ผู้ที่ฉีดยาหลายคน อาจใช้เข็มฉีดยาร่วมกันทำให้โรคจากคนหนึ่งติดไปยังคนอื่นๆ ได้ เช่น โรคตับอักเสบ เป็นต้น ผู้ติดยามีอัตราการเป็นโรคนี้มากกว่าบุคคลทั่วไป และอาจเกิดการระบาดเป็นโรคทีละหลายๆ คนได้
๕. อันตรายจากการฉีดยาที่ไม่เหมาะสมเข้าร่างกาย ผู้ติดยาอาจใช้ยาเม็ดมาละลายน้ำ ฉีดเข้าหลอดเลือด โดยไม่ทราบว่าในยาเม็ดมีแป้งพวกทัลคัม(talcum) อยู่ด้วย บางทีก็ใช้สำลีกรองน้ำยาก่อนจะใช้ฉีดแป้งและใยสำลีจะเข้าไปติดอยู่ตามหลอดเลือดฝอยของปอด เกิดโรคปอดแข็งทำให้การหายใจลำบากเรื้อรังและไม่มีวิธีรักษา
ในบางกรณียาอาจจะละลายไม่ดี มีเกล็ดหรือผลึกของยาเข้าไปในหลอดเลือด ไปอุดหลอดเลือดต่างๆ เช่น ที่สมอง เกิดเป็นอัมพาตได้
๖. โรคบางชนิดที่พบร่วมกับการติดยาเสพติดผู้ติดยาเสพติด มักมีสุขภาพไม่ดี อาหารไม่เพียงพอและการดูแลสุขภาพอนามัย ตลอดจนการรักษาความสะอาดของร่างกายไม่ดี จึงมีโรคต่างๆเกิดได้มาก เช่น วัณโรคของปอด โรคผิวหนังต่างๆ เป็นต้น
มีผู้รายงานว่า พบโรคบางชนิดร่วมกับการติดยาเสพติด โดยความสัมพันธ์และวิธีการเกิดยังไม่ได้เป็นที่เข้าใจชัดเจน เช่น โรคเนื้อเยื่อกล้ามเนื้อละลายตัว (rhabdomyolysis) มีอาการปวดกล้ามเนื้อ และอ่อนเพลีย ขยับเขยื้อนลำบาก มีการสลายตัวของเซลล์กล้ามเนื้อทำให้มีสารไมโอโกลบินเข้าไปในเลือด และขับถ่ายออกไปในปัสสาวะ (myoglobinemia, myoglobinuria) เห็นเป็นปัสสาวะสีดำ
โรคไตอักเสบ และโรคเส้นประสาทอักเสบ ก็พบได้ในผู้ติดยาเสพติด



ผิวหนังอักเสบเนื่องจากติดเชื้อจากเข็มฉีดยา


การสูญเสียทางเศรษฐกิจ
๑. ค่าใช้จ่ายในการใช้ยา ผู้ติดยาเสพติดย่อมต้องใช้จ่ายเงินในการซื้อยามาใช้ ยิ่งติดมากขึ้น ยิ่งจำเป็นต้องใช้ปริมาณยามาก เพราะเกิดการด้านยาดังได้กล่าวแล้ว โดยเฉลี่ยเมื่อ พ.ศ. ๒๕๒๒ ผู้ที่ติดเฮโรอีนใช้เงินซื้อยาราววันละ ๕๕ บาท ซึ่งนับว่าเป็นค่าใช้จ่ายที่สูงมาก
ผู้ที่สูบฝิ่น หากมีฐานะไม่ค่อยดีนัก ก็จำเป็นต้องขายทรัพย์สมบัติต่างๆ เพื่อใช้ในการสูบฝิ่น จึงทำให้มีฐานะยากจนลง ผู้ที่ยากจนอยู่แล้วและต้องรับจ้างหาเงิน ยิ่งมีความลำบากในการยังชีพ และเลี้ยงดูครอบครัว
หากพิจารณาการสูญเสียทั้งประเทศซึ่งมีผู้ติดยาอยู่มาก ผู้ติดยาเฮโรอีน ๑๐๐,๐๐๐ คน จะใช้ยามีมูลค่าถึงวันละ ๕.๕ ล้านบาท หรือปีละ ๒,๐๐๐ ล้านบาท
๒. การขาดงาน ผู้ติดยาเสพติดบางคน อาจสามารถปรับการใช้ยาได้ และสามารถทำงานได้ตามปกติบางคนใช้ยาขนาดน้อยๆ ในเวลาเช้าและกลางวัน เพื่อไม่ให้เกิดอาการถอนยาและสามารถทำงานได้ แล้วใช้ยามากในตอนเย็นหรือกลางคืน
ผู้ติดยาส่วนใหญ่ เมื่อติดงอมแงมแล้วจะไม่สามารถทำงานได้ เพราะจะมีผลต่อร่างกายและจิตใจที่ขัดกับการทำงาน เมื่อใช้ยามากในเวลากลางวัน ก็มีอาการซึม สะลึมสะลือ ความคิดช้า ทำงานได้ลำบาก เมื่อยาหมดฤทธิ์ก็เกิดอาการถอนยา คือ กระวนกระวาย และปวดเมื่อยตามตัว ฤทธิ์ของยาและอาการถอนยานี้เกิดสลับกันอยู่ทั้งวัน จนไม่สามารถทำงานหรือเรียนหนังสือได้ นอกจากนี้ ยังมีความจำเป็นต้องใช้เวลาในการไปหายามาเพื่อใช้ในคราวต่อไป และหาที่ซุกซ่อนเพื่อใช้ยาสิ่งต่างๆ เหล่านี้จะรบกวนและขัดขวางการทำงาน ทำให้ประสิทธิภาพลดลง จนอาจต้องออกจากงาน
๓. ค่าใช้จ่ายในการจัดการแก้ปัญหาของรัฐและเอกชน ทั้งในด้านการปราบปรามการลักลอบค้ายาเสพติด การให้บริการบำบัดรักษา และการป้องกันทำให้สูญเสียงบประมาณและทรัพยากรไปไม่น้อย


การสูญเสียทางสังคม
๑. การเสียชื่อเสียง และฐานะทางสังคมของผู้ติดยา ผู้ติดยาย่อมเป็นที่รังเกียจของสังคม
๒. ปัญหาในครอบครัว การติดยาเสพติดทำให้คนในครอบครัวได้รับความลำบากทั้งด้านจิตใจและฐานะการเงิน มีผลให้เกิดความแตกแยกในครอบครัวได้ดังจะเห็นได้ว่าผู้ติดยามีอัตราการหย่าร้างสูง
๓. ปัญหาอาชญากรรม ผู้ติดยาจำเป็นต้องใช้เงินจำนวนมากในการซื้อยามาใช้ ประกอบกับความอยากยารุนแรง ทำให้ขาดการยั้งคิด จึงเกิดอาชญากรรมต่างๆ ขึ้นได้ ในชุมชนใดที่มีผู้ติดยาเสพติดอยู่ โอกาสที่จะเกิดการลักขโมยมีมากขึ้น
นอกจากนี้ ปัญหายาเสพติดอาจเป็นปัญหาทางการเมืองในประเทศ หรือระหว่างประเทศ และมีผลกระทบต่อความมั่นคงของชาติได้

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น